บริษัทฯ มีขั้นตอนการปฎิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพโดยสังเขป ตามแผนผังที่แสดงด้านล่าง

 

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน


การตรวจสอบและอนุมัติราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

 

ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินทุกฉบับ เพื่อความถูกต้องและอนุมัติราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โดยผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตามสายงาน และลงนามในรายงานร่วมกัน 3 คน ประกอบด้วย ผู้สำรวจและประเมินมูลค่า ผู้ประเมินหลัก และกรรมการบริษัท สำหรับราคาประเมินทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณามูลค่าทรัพย์สิน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่บริษัทแต่งตั้งอย่างน้อย 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมในการอนุมัติ สำหรับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ขั้นตอนการตรวจสอบและการอนุมัติราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน สามารถอธิบายตามหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

ผู้สำรวจและประเมินมูลค่า : เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายงานประเมินมูลค่า ทำหน้าที่สำรวจและประเมินมูลค่าตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ เรียบเรียงรายงาน เอกสารประกอบรายงาน กระดาษทำการ และลงนามในรายงาน

 

ผู้จัดการฝ่ายประเมินมูลค่า : เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในระดับขั้นอาวุโส มีความรู้ความสามารถในการบริหารและการจัดการงานประเมินฯ ได้เป็นอย่างดี มีภาวะความเป็นผู้นำ ทำหน้าที่มอบหมายงานให้กับผู้สำรวจและประเมินมูลค่า ให้คำแนะนำในหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินมูลค่า ตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงานตามวัตถุประสงค์ สมมุติฐานและวิธีการประเมินมูลค่า ตรวจสอบเอกสารประกอบการประเมินมูลค่าและกระดาษทำการ ให้ความเห็นราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน รวมถึงการสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งอาจมอบหมายให้กับผู้สำรวจและประเมินมูลค่าอื่น และนำเสนอต่อผู้ประเมินหลักเพื่ออนุมัติ

 

ผู้ประเมินหลัก : เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทุกประเภท ทำหน้าที่ให้คำแนะนำถึงเทคนิคและวิธีการประเมินมูลค่า ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สิน ตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้องของรายงาน สรุปและอนุมัติราคาประเมิน และลงนามผู้ประเมินหลักในรายงาน บริษัทฯ กำหนดผู้ประเมินหลักสำหรับอนุมัติราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามระดับชั้นที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ดังนี้

 

ผู้ประเมินหลักชั้นวิสามัญ

ทรัพย์สินที่ประเมินต้องมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

  • ที่ดินเปล่าไม่จำกัดเนื้อที่ หรือ
  • ทรัพย์สินเพื่อการอยู่อาศัย หรือโครงการพักอาศัยที่มีสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารประกอบกิจการรวมกันไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร

 

ผู้ประเมินหลักชั้นสามัญ

ทรัพย์สินที่ประเมินมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 400 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ที่ดินเปล่าไม่จำกัดเนื้อที่ หรือ
  • ทรัพย์สินเพื่อที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ที่มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้างหรืออาคารประกอบกิจการรวมกันไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือ
  • เครื่องจักรและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ

 

ผู้ประเมินหลักชั้นวุฒิ

  • ไม่จำกัดมูลค่าของทรัพย์สินที่ประเมิน
  • ไม่จำกัดประเภทของทรัพย์สิน
  • ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและให้ความเห็นในรายงานประเมินได้ในฐานะบุคคลที่สาม เมื่อมีการร้องขอจากหน่วยงานต่างๆ
  • กรรมการผู้รับมอบอำนาจลงนาม : ทำหน้าที่ตรวจสอบภาพรวมสุดท้าย รับรองราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และลงนามรายงาน
  • คณะกรรมการพิจารณามูลค่าทรัพย์สิน : ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่บริษัทฯ แต่งตั้งขึ้นอย่างน้อย 3 คน ประกอบด้วย ผู้จัดการฝ่ายประเมินมูลค่า ผู้ประเมินหลัก และกรรมการบริษัท ทำหน้าที่ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาและอนุมัติราคาประเมิน สำหรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท รวมถึงการให้ความเห็น ข้อจำกัด และเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมในการประเมินมูลค่า และอาจสั่งทบทวนรายงานหากวิธีประเมินมูลค่าทางด้านเทคนิคไม่เหมาะสม หรือข้อมูลประกอบการประเมินมูลค่าไม่เพียงพอ คณะกรรมการฯ ยังประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกร่วมในการอนุมัติ สำหรับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท